You are currently viewing Learning Experience Platform (LXP): แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

Learning Experience Platform (LXP): แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

Learning Experience Platform (LXP): แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนา การศึกษาอย่างยั่งยืน

อ.ดร.วชิระ พรหมวงศ์
อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

        Learning Experience Platform (LXP) เป็นคำที่เริ่มต้นมากขึ้นในวงการการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ในเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน (Fosway Group, 2019) ซึ่งในยุคปัจจุบันผู้เรียนมีความต้องประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตนเอง และเข้าถึงเนื้อหาและสื่อการเรียนจากแหล่งที่หลากหลาย (Bersin, 2019) LXP ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการจัดการเนื้อหาการเรียนรู้เหมือน LMS แต่ยังเน้นให้สามารถสำรวจและสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง และสร้างเครือข่ายหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ เพื่อการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Gartner, 2020).

        แนวโน้มความต้องการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตนเองของเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ LXP เริ่มมาแทนที่ Learning Management System (LMS)  โดยแพลตฟอร์มอย่าง Degreed หรือ LinkedIn Learning เป็นตัวอย่างของ LXP ที่ช่วยให้สามารถสร้างและจัดการเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองได้ และสร้างชุมชนหรือเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสานต่อการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ จนเกิดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางการศึกษา (Josh Bersin Academy, 2020)

01

ภาพที่ 1 องค์ประกอบของ Learning Experience Platform (LXP)
แหล่งที่มาภาพ https://www.valamis.com/hub/learning-experience-platform

        จุดเด่นของ Learning Experience Platform (LXP)
        Learning Experience Platform (LXP) คือแพลตฟอร์มที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้และสื่อการเรียนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเครื่องมือที่ช่วยในการปรับปรุงและส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยจุดเด่นหลัก ๆ ของ LXP มีดังนี้
        1) ความเป็นส่วนตัว ช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับแต่งเนื้อหาและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและความต้องการของตนเองได้
        2) การเข้าถึงที่ง่าย ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ
        3) ความหลากหลายของเนื้อหา LXP ส่วนมากจะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่และหลากหลาย ทั้งเนื้อหาที่สร้างขึ้นภายในและเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลภายนอก นอกจากนี้ระบบ LXP ยังส่งเสริมการอัปเดทและพัฒนาความรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
        4) ข้อมูลและเนื้อหาที่ทันสมัยตลอดเวลา ระบบ LXP ส่งเสริมการอัปเดทและพัฒนาความรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน หรือผู้เรียนกับผู้สอน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์ความรู้นั้น ๆ
        5) การวิเคราะห์และการรายงาน: LXP ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์และรายงานประสิทธิภาพของผู้เรียน ช่วยให้ผู้ดูแลระบบ ผู้สอน และผู้เรียนสามารถปรับปรุงและปรับเปลี่ยนแผนการเรียนรู้ได้
        6) การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยความสามารถในการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ทันสมัยและวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละคน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลระบบการเรียนและการศึกษาให้เกิดความยั่งยืน
        โดยสรุป LXP เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในวิธีการศึกษาและการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ตามความต้องการ โดยมีจุดเด่น คือ ความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงที่ง่าย ความหลากหลายของเนื้อหา ข้อมูลและเนื้อหาที่ทันสมัยตลอดเวลา มีระบบการวิเคราะห์และการรายงาน และส่งเสริมความยั่งยืนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภาพที่ 2 จุดเด่นของ LinkedIn Learning
แหล่งภาพ https://excel.ucr.edu/linkedin-learning

        การเปลี่ยนแปลงไปสู่ Learning Experience Platform เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการศึกษา
หลักการที่สำคัญของ Learning Experience Platform (LXP) ที่ส่งผลให้ LXP มีความแตกต่างและเหมาะสมในการศึกษาแบบยั่งยืนมากกว่า Learning Management System (LMS) โดย LXP มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
        1) ปรับปรุงประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดของการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางการศึกษา  โดย LXP มุ่งเน้นการให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดกับผู้เรียน โดยการให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระ วิธีการและกิจกรรมการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนรายบุคคล
        2) ความยืดหยุ่นและการปรับแต่ง ในส่วนของ User Interface (UI) และ User Experiences (UX) LXP มีการตอบสนองให้ออกแบบและสามารถใช้งาน หรือปรับแต่งได้ง่าย ทั้งในด้านเนื้อหา หน้าตา และฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและผู้สอน
        3) การเข้าถึงแบบอนุกรม ในปัจจุบัน LXP สามารถใช้งานได้เกือบทุกช่องทาง และมีวิธีการติดตั้งและเริ่มต้นใช้งานที่ง่ายผ่านหลายช่องทาง เช่น มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
        4) การสนับสนุนการเรียนรู้แบบสังคม/ชุมชนการเรียนรู้ ในปัจจุบันหลายแพลตฟอร์ม LXP มีฟีเจอร์ที่สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านกลุ่มคน สื่อสังคมหรือชุมชน ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และทันสมัยอยู่เสมอจนบางแพลตฟอร์มสามารถพัฒนาเป็นระบบนิเวศน์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางการศึกษา
        5) การอัปเดทและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง LXP จะมีการอัปเดทและปรับปรุงเนื้อหา และระบบการใช้งาน รวมถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ เร็วและทันสมัยกว่า LMS นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงวิธีการนำเสนอและกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า Learning Experience Platform (LXP) มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน  ทั้งในด้านผู้เรียน ผู้สอน เนื้อหาสาระ ข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ ด้านกิจกรรมการเรียนและการสอน ด้านทรัพยากรการเรียนรู้ และสื่อต่าง ๆ โดย LXP เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการศึกษาทางไกล ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล มีความยืดหยุ่นสามารถตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้งาน ตลอดจนการสนับสนุนชุมชนในการเรียนรู้ 

อ้างอิง
Ellis, R. K. (2009). A Field Guide to Learning Management Systems. ASTD Learning Circuits.[Online]. Available from: https://home.csulb.edu/~arezaei/ETEC551/web/ Retrieved March 31, 2022

Fosway Group. (2019). Digital Learning Realities Research. [Online]. Available from: https://www.fosway.com/research/next-gen-learning/digital-learning-realities-2019/ Retrieved November 8, 2022

Gartner. (2020). Hype Cycle for Education, 2020. [Online]. Available from:
https://www.gartner.com/smarterwithgartner/5-trends-drive-the-gartner-hype-cycle-for-emerging-technologies-2020 Retrieved March 8, 2023

Harward, D. (2020). Defining What It Means to be a Learning Experience Platform (LXP).
For Training Industry. Retrieved December 8, 2022

Josh Bersin Academy. (2017). The Disruptive Nature of Digital Learning: Ten Things We’ve Learned. [Online]. Available from: https://www.slideshare.net/jbersin/the-disruptive-nature-of-digital-learning-ten-things-weve-learned Retrieved December 31, 2022

Social Share...