การออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทางไกลด้วย VR Technology
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ และอาจารย์ ดร.ชุติวัฒน์ สุวัตถิพงศ์
อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตส่งผลทำให้การพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อการเรียนการสอนทางไกลต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมให้กับผู้เรียน ด้วยข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีเสมือนจริงที่สามารถตอบสนองการใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย สามารถสร้างสภาพแวดล้อมจำลองจากโลกที่เป็นจริง หรือโลกจินตนาการได้ รวมถึงเปิดโอกาสการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อนำมาใช้ออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อการเรียนการสอนทางไกล จึงมีขั้นตอนประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นเตรียมการ (pre-production) (2) ขั้นดำเนินการ (production) และ (3) ขั้นหลังการดำเนินการ (post-production) มีรายละเอียดดังนี้
ขั้นเตรียมการ (pre-production) เริ่มต้นจากการวิเคราะห์เนื้อหาร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและนักเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อกำหนดเนื้อหาสำหรับการนำมาออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเสมือนจริง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเนื้อหาที่นำมาพัฒนาได้แก่ เรื่อง สถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยา ของชุดวิชา 32484 ความรู้พื้นฐานของมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยวอาเซียน สาขาวิชาวิทยาการจัดการ และเรื่อง การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่า ของชุดวิชา 94430 การจัดการการปฏิบัติการและการแปรรูปสินค้าเกษตร จากนั้นสำรวจสถานที่เพื่อกำหนดฉาก (Scene) สำหรับการบันทึกภาพ 360 องศา และรวบรวมข้อมูลหรือดำเนินการทำสคริปต์/สตอรี่บอร์ดสำหรับการผลิตสื่อวีดิโอเพื่อใช้ประกอบเป็นสื่อมัลติมีเดียในสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงที่พัฒนาขึ้น โดยสื่อมัลติมีเดียที่จะนำไปใช้สามารถอยู่ในรูปแบบของข้อความ รูปภาพ ไฟล์เสียง และวิดีโอได้
ขั้นดำเนินการ (production) คือการดำเนินการตามแผนที่ได้เตรียมการไว้ ประกอบด้วยการบันทึกภาพ 360 องศา ตามสถานที่ที่กำหนดไว้เพื่อนำมาใช้เป็นฉากในสื่อการเรียนรู้ ซักซ้อมและถ่ายทำสื่อวิดีโอตามสคริปต์หรือสตอรี่บอร์ด ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของรายการสารคดีหรือสัมภาษณ์เพื่อบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมา หรือกระบวนการแปรรูปฯ ที่ต้องอาศัยการอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการถ่ายภาพนิ่งเพื่อนำมาใช้ประกอบเป็นสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการบันทึกภาพ 360 องศา จะได้ภาพในมุมกว้างเท่านั้น
ตัวอย่างภาพ การบันทึกภาพ 360 องศา และการซักซ้อมเพื่อถ่ายทำสื่อวิดีโอ
ขั้นหลังดำเนินการ (post-production) ประกอบด้วยการดำเนินในหลายส่วน ตั้งแต่การนำภาพวิดีโอที่บันทึกมาตัดต่อเพื่อจัดทำเป็นคลิปสั้น ๆ สำหรับใช้เป็นสื่อที่ให้ความรู้ในสื่อการเรียนรู้เสมือนจริง การจัดทำ VR Scripts เพื่อกำหนดโลเคชั่นสำหรับการใส่แท็ก (tag) ที่ตรงกับรูปแบบของสื่อมัลติมีเดีย โดยหลักการสำคัญในขั้นตอนนี้คือการอัปโหลดภาพ 360 องศาขึ้นสู่เว็บไซต์ที่สร้างสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริง (www.thinglink.com) แล้วใส่แท็ก (tag) บนภาพ 360 องศาให้ตรงตาม VR Script ให้ครบทุกจุด ทดสอบจุดที่ใส่สื่อมัลติมีเดียว่าแสดงผลตามที่ต้องการหรือไม่ แล้วสามารถเชื่อมต่อไปยังฉากที่ระบุไว้หรือเปล่า หากเป็นไปตามที่กำหนดแล้ว สามารถแบ่งปันสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงไปยังระบบบริหารการจัดการเรียนรู้ หรือช่องทางการติดต่อสื่อสาร หรือการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อการรับชมสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงได้อย่างเท่าเทียมกัน
ตัวอย่างภาพ การจัดทำ VR Script และการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริง
ตัวอย่างที่ 1 เรื่องสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาระยะที่ 1 นำเสนอผ่านวัดวัดพุทไธสวรรย์ (https://bit.ly/vrwatphutt) และระยะที่ 3 นำเสนอผ่านวัดชุมพลนิกายาราม (https://bit.ly/vrwat)
ตัวอย่างที่ 2 เรื่อง การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่าด้วยการเอ็กซ์ทรูชัน (https://bit.ly/Extrud) และการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่าด้วยความร้อน (https://bit.ly/hotprocess2)
แนวทางการนำสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงไปประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีตามแผนการเรียนของนักศึกษาในระบบการศึกษาทางไกลแบ่งเป็น 3 แผน ได้แก่ (1) การศึกษาด้วยตนเอง (2) กิจกรรมสอนเสริม และ (3) กิจกรรมร่วมเรียนรู้ ซึ่งการประยุกต์ใช้ทั้งสามแผนข้างต้น ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์เพื่อโต้ตอบกับเนื้อหาได้ตลอดเวลา นับเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักการ Active Learning ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นเพื่อให้เห็นถึงการนำสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริง เรื่องสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยา (ชุดวิชา 32484 ความรู้พื้นฐานของมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยวอาเซียน) และเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่า (ชุดวิชา 94430 การจัดการการปฏิบัติการและการแปรรูปสินค้าเกษตร) ไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนขออธิบายพอสังเขปดังนี้ กรณีการศึกษาด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงผ่านการทำกิจกรรมการเรียนการสอนใน e-learning และสะท้อนความรู้หลังจากการรับชมสื่อผ่านกระดานสนทนา (discussion board) โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดประเด็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไม่ประสานเวลา แต่หากจะนำไปใช้สำหรับกิจกรรมสอนเสริม หรือกิจกรรมร่วมเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งการสอนแบบเผชิญหน้าและการสอนแบบเสมือนจริง (แบบใช้เทคโนโลยี) ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบประสานเวลา ผู้สอนก็มีบทบาทในฐานะสำคัญที่ต้องกำหนดสถานการณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงบทบาทสมมติในฐานะของมัคคุเทศก์ หรือหัวหน้าฝ่ายโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร แล้วให้ผู้เรียนใช้สื่อการเรียนรู้แบบเสมือนจริงเพื่อนำชมสถาปัตยกรรม หรืออธิบายกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรผ่านเครื่องจักรที่อยู่ในโรงงานตามจุดต่าง ๆ นอกจากผู้สอนจะได้ประเมินความรู้พื้นฐานของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับ ชุดวิชาแล้ว ยังเป็นการช่วยฝึกทักษะการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันเป็นทีมให้กับผู้เรียนได้อีกด้วย