เคล็ด(ไม่)ลับการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ : ฉบับปูพื้นฐาน
อังคณา พรรณนราวงศ์
สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.
สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า คุณต้องการ ถ่ายภาพได้ หรือ ถ่ายภาพเป็น และคุณคิดว่า 2 คำนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ บทความนี้จะพาคุณไปพบคำตอบ ซึ่งเป็นเคล็ด(ไม่)ลับกับการปูพื้นฐานการถ่ายภาพให้แน่นแฟ้น เพื่อคุณจะได้เป็นผู้ที่ถ่ายภาพเป็นไม่ใช่แค่เพียงถ่ายภาพได้ อีกต่อไป
ภาพถ่ายเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับภาพวาด เนื่องจากภาพวาดจะเขียนภาพด้วยสี แต่ สำหรับภาพถ่ายนั้นจะเขียนภาพด้วยแสง ฉะนั้นการวัดแสงที่พอดี การปรับโฟกัสให้ชัดเพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการถ่ายภาพ นอกจากนี้ช่างภาพเองยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่สามารถสื่อความหมายเกิดความสวยงาม และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในการจัดองค์ประกอบภาพถ่าย ดังนี้
1.การวางภาพในตำแหน่งจุดสนใจ
การถ่ายภาพนิยมวางจุดเด่นของภาพให้ตรงกับ จุดตัด 9 ช่อง หรือ กฎ 3 ส่วน เพื่อให้วัตถุที่เราถ่ายภาพ เกิดความน่าสนใจ
ภาพที่ 1 จุดตัด 9 ช่อง หรือ กฎ 3 ส่วน
ภาพที่ 2 ตัวอย่างการถ่ายภาพ โดยวางวัตถุที่ถ่ายภาพตรงบริเวณจุดตัด 9 จุด
ภาพที่ 3 ตัวอย่างการถ่ายภาพให้อยู่ในบริเวณ กฎ 3 ส่วน
2.เส้นนำสายตา
การถ่ายภาพนั้น เส้นนับว่ามีความสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเส้นสามารถบอกลักษณะโครงสร้างของภาพ เป็นการนำสายตาไปสู่วัตถุที่ถ่ายให้มีความน่าสนใจ เกิดจุดเด่นของภาพ เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ของภาพ และทำให้ช่วยสร้างความลึกของภาพ นอกจากนี้ เส้นยังสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ สังเกตได้ว่าภาพนี้ (ภาพที่ 4) จะใช้เส้นนำสายตายแบบตรงกลาง เช่น เส้นทางเดินที่นำไปสู่พระเยซู หรืออาจจะเป็นเสาสีขาวของโบสถ์ เพื่อนำสายตาไปสู่พระเยซู เป็นต้น
ภาพที่ 4 ตัวอย่างภาพ แสดงเส้นนำสายตาแบบตรงกลางภาพ
นอกจากนี้ เส้นต่างๆ ภายในภาพยังส่งผลกับอารมณ์ความรู้สึกของภาพด้วยเช่นกัน ถ้าในภาพถ่ายนั้นมีเส้นที่เป็นลักษณะ แนวนอนและแนวตั้ง จะทำให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงและเป็นทางการ เส้นทแยง จะให้ความรู้สึกมีการเคลื่อนไหว ความรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง และเส้นรูปตัว S จะให้ความรู้สึกที่ดูอ่อนไหว เป็นต้น
ภาพที่ 5 ตัวอย่างภาพแสดงเส้นทแยง จะให้ความรู้สึกมีการเคลื่อนไหว ความรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง
ภาพที่ 6 ตัวอย่างภาพ แสดงลักษณะเส้นรูปตัว S จะให้ความรู้สึกอ่อนไหว
2.ลักษณะพื้นผิว
พื้นผิวของวัตถุสิ่งของต่างๆ จะมีลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของวัตถุ เช่น ลักษณะพื้นผิวละเอียด จะให้ความรู้สึกละมุนละไม น่าจับต้อง และลักษณะพื้นผิวหยาบ จะให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง
ภาพที่ 7 ตัวอย่างภาพ แสดงลักษณะพื้นผิวละเอียด
จากหลักการจัดองค์ประกอบในภาพถ่ายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพเพื่อให้เกิดความสวยงามได้นั้น ช่างภาพจำเป็นต้องถ่ายภาพให้เกิดความแตกต่างกว่าที่ตามองเห็น และใช้หลักการที่นำเสนอมา เพื่อช่วยให้ภาพที่เราถ่ายเป็นงานศิลปะที่มีความสวยงาม ซึ่งมีความหมายมากกว่าคำว่าการถ่ายภาพได้ นั้นคือการถ่ายภาพเป็น แต่หลักการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพยังมีอีกหลายข้อ ที่จะพาคุณไปสู่การถ่ายภาพเป็น โปรดติดตามในตอนต่อไป
พร้อมเป็นนักถ่ายภาพมืออาชีพหรือยัง?
ถ้าท่านสนใจอยากเป็นนักถ่ายภาพมืออาชีพ แต่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน สามารถดูตัวอย่างผลงานและใช้บริการของเราได้ที่ https://oet.stou.ac.th/product/ ร่วมกันสร้างสรรค์สื่อและนวัตกรรมล้ำสมัย พัฒนาการศึกษาทางไกล ไปกับเราที่สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.