การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ
โดย ผศ.ดร.พัทธนันท์ บุตรฉุย
ผศ.ดร.พัทธนันท์ บุตรฉุย อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา ได้เข้าร่วมอบรม เรื่อง “การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ” จัดโดย สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) ณ ห้องกุมาริกา โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระหว่างวันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2567 จากการเข้าร่วมการอบรมสามารถสรุปสาระสำคัญเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ได้ดังนี้
การเขียนตำราและหนังสือทางวิชาการเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับความถูกต้องทางวิชาการ ต้องนำเสนอเนื้อหาที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการวิชาการ การค้นคว้าและเลือกใช้คำศัพท์ทางวิชาการเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าและตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน เช่น นักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจในสาขาวิชานั้น ๆ บทความนี้ขอนำเสนอการสังเคราะห์องค์ความรู้ เรื่อง การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ ดังนี้
1. ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ
1) ขั้นตอนการยื่นตำรา/หนังสือเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ:
– ต้องจัดทำตำราหรือหนังสือที่มีคุณภาพตาม ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2564
– ตำราต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับรายวิชาในหลักสูตร และหนังสือต้องมีเนื้อหาลึกซึ้งที่เสริมสร้างองค์ความรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ
– ผู้เขียนต้องระบุวิชาที่เกี่ยวข้อง พร้อมหลักฐานประกอบ เช่น แหล่งข้อมูลและการอ้างอิง
2) คุณภาพตำรา/หนังสือ:
– ต้องมีมโนทัศน์แกนกลาง (Core Concept) และมโนทัศน์ย่อย (Sub-concepts) ที่สอดคล้องและเป็นระบบ
– เนื้อหาควรให้ความรู้ใหม่ที่ทันสมัยและสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาวงการวิชาการได้
2. การตั้งชื่อเรื่องตำราและหนังสือ
ชื่อเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่สื่อถึงองค์ความรู้และสาระหลักในสาขาวิชาหรือศาสตร์นั้น ๆ ควรแสดงขอบเขตเนื้อหาทั้งแบบกว้างหรือเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเนื้อหา
1) หลักการตั้งชื่อเรื่องตำรา
การตั้งชื่อเรื่องตำรา ถ้าเขียนตำราทั้งวิชา ชื่อตำราควรตรงกับชื่อวิชา ถ้าเขียนเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ชื่อควรอยู่ในขอบเขตคำอธิบายวิชาและผลลัพธ์การเรียนรู้ ชื่อเรื่องควรสะท้อนถึงกรอบการเขียนตำราและช่วยให้ตำรามีคุณภาพสูงขึ้น หลักการตั้งชื่อตำรามีหลักการดังนี้
– ชื่อเรื่องตรงกับเนื้อหา โดยชื่อเรื่องตำราต้องสะท้อนถึงสิ่งที่จะนำเสนออย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น หากตำราครอบคลุมเนื้อหาทั้งวิชา เช่น “การวิจัยเชิงคุณภาพในสังคมศาสตร์” จะช่วยให้นักศึกษาทราบถึงสาระสำคัญของตำรา
– การตั้งชื่อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง สำหรับตำราที่ครอบคลุมเฉพาะบางส่วนของวิชา เช่น “การใช้สถิติสำหรับการวิจัย” จะเจาะจงกลุ่มเนื้อหาและผู้ใช้งานมากขึ้น
– ชื่อเรื่องที่ดึงดูดใจ ควรหลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่ยากเกินไปและทำให้ชื่อเข้าใจยาก เช่น “การจัดการโครงสร้างข้อมูลขั้นสูงในระบบซับซ้อน” อาจเปลี่ยนเป็น “การจัดการข้อมูลในระบบซับซ้อน”
2) หลักการตั้งชื่อเรื่องหนังสือ
การตั้งชื่อเรื่องหนังสือ ควรแสดงองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งและรอบด้าน ซึ่งต่างจากความรู้พื้นฐาน ต้องสะท้อนถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หลักการตั้งชื่อหนังสือมีหลักการดังนี้
– องค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง เช่น “การตลาดดิจิทัลในยุคปัจจุบัน” ชื่อเรื่องนี้เน้นการเจาะลึกด้านเทคนิคและนวัตกรรมใหม่ในสายงาน
– ความเหมาะสมกับเป้าหมาย หากเนื้อหาเหมาะกับนักวิชาชีพ เช่น “การบริหารทรัพยากรมนุษย์สำหรับองค์กรสมัยใหม่” จะช่วยเจาะกลุ่มผู้อ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
– เน้นความเฉพาะเจาะจง การเลือกคำที่สื่อสารได้ดี เช่น “การสื่อสารในองค์กรขนาดใหญ่” หรือ “จิตวิทยาการจัดการคนในองค์กร”
3) ตัวอย่างการตั้งชื่อเรื่องตำราและหนังสือ
– นิเทศศาสตร์ อาจเขียนตำราและหนังสือที่เฉพาะเจาะจงในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ โดยตั้งชื่อเรื่อง เช่น การสื่อสารในภาวะวิกฤต ทฤษฎีการสื่อสาร เป็นต้น
– กฎหมายมหาชน อาจเขียนตำราและหนังสือที่เฉพาะเจาะจงในสาขาวิชากฎหมายมหาชน โดยตั้งชื่อเรื่อง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือชื่อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เช่น กฎหมายการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น
3. การจัดทำเค้าโครงร่างตำราและหนังสือ
1) การวางโครงร่าง
– เนื้อหาทั้งเล่ม โดยแบ่งเป็นบทที่มีการเรียบเรียงเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น บทนำ (กล่าวถึงความสำคัญ), เนื้อหาเชิงลึก (บทที่ 2-9), บทสรุป (บทที่ 10)
– โครงสร้างของแต่ละบท ในส่วนของบทนำ เช่น การแนะนำหัวข้อ ประเด็นปัญหา และวัตถุประสงค์ของตำรา เนื้อเรื่อง เช่น หัวข้อหลัก (Main Topics) และหัวข้อย่อย (Subtopics) มีตัวอย่างและงานวิจัยประกอบ และบทสรุป เช่น ข้อเสนอแนะสำหรับการประยุกต์ใช้งาน
– การจัดองค์ประกอบตำรา/หนังสือ ตำราและหนังสือต้องมีองค์ประกอบสำคัญ เช่น คำนำ สารบัญ เนื้อหา อ้างอิง และดัชนีคำค้น และมีตัวอย่าง เช่น การเพิ่มแผนภาพ ตาราง และภาพประกอบช่วยเสริมความเข้าใจในเนื้อหา
2) การจัดการเนื้อหา
– วิเคราะห์เนื้อหา โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วน ๆ ที่ครอบคลุมและสมดุล เช่น เนื้อหา 60% ตัวอย่าง/การสอดแทรกงานวิจัย 20% และบทสรุป 20%
– ใช้เครื่องมือช่วยวางแผน เช่น Mind Map ช่วยให้เห็นภาพรวมของหัวข้อที่จะเขียน
4. เทคนิคการเขียนตำราและหนังสือ
1) การใช้ภาษา
– ภาษาวิชาการ ใช้คำที่กระชับ ชัดเจน และสอดคล้องกับเนื้อหา ตัวอย่าง: “การจัดการเชิงกลยุทธ์ในองค์กรยุคใหม่”
– คำเชื่อมโยง ใช้คำเชื่อมเพื่อสร้างความต่อเนื่องในเนื้อหา เช่น ดังนั้น, ในขณะเดียวกัน, หรืออย่างไรก็ตาม”
2) การวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหา
การอธิบาย ใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ เช่น การยกตัวอย่างจากกรณีศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจลึกซึ้ง มีการสังเคราะห์ จากการนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาผสมผสาน เช่น งานวิจัยและทฤษฎี เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่
3) การสอดแทรกงานวิจัย
ตัวอย่างงานวิจัย เช่น ผลการทดลอง, สถิติ หรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนหัวข้อ มีการเชื่อมโยงงานวิจัยควรเชื่อมโยงกับเนื้อหาในบทที่เกี่ยวข้อง และควรมีการอ้างอิงที่ถูกต้อง
5. จรรยาบรรณและจริยธรรมในการเขียน
– การคัดลอกผลงาน หากใช้ข้อความจากผู้อื่นต้องระบุที่มา และจำกัดการคัดลอกไว้ไม่เกิน 40 คำต่อการอ้างอิง
– การอ้างอิงภาพและข้อมูล เช่น ตารางหรือกราฟ ต้องอ้างอิงที่มาชัดเจนและไม่ดัดแปลงจนผิดเพี้ยน
– การใช้ AI แม้จะใช้เครื่องมือ AI ในการเขียน แต่ผู้เขียนควรตรวจสอบความถูกต้องและปรับปรุงเพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาการ
6. หลักการอ้างอิง
– แนวทางการเลือกแหล่งอ้างอิงที่มีคุณภาพ ควรใช้แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เช่น วารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ คำนึงถึงกระบวนการประเมินของสำนักพิมพ์ก่อนการเผยแพร่
– การอ้างอิงที่ถูกต้อง แสดงถึงความเคารพลิขสิทธิ์และความน่าเชื่อถือของเนื้อหาการอ้างอิงต้องครบถ้วนชัดเจน และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ล้าสมัยหรือมีเนื้อหาเฉพาะกลุ่มเกินไป
– ปัญหาและข้อผิดพลาดในการอ้างอิง การอ้างอิงที่ไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือผิดรูปแบบการคัดลอกผลงานทางวิชาการถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์
– การใช้เทคโนโลยีและ AI ในการเขียน สามารถใช้ AI ช่วยค้นคว้าและจัดการการอ้างอิง แต่ต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมและการอ้างอิงที่ถูกต้อง
7. การประเมินคุณภาพของตำราและหนังสือ
1) คุณสมบัติของตำรา มีเนื้อหาที่ทันสมัย เช่น การอัปเดตเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือแนวโน้มใหม่ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน เช่น การใช้ตำราเป็นคู่มือในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง
2) คุณสมบัติของหนังสือ ส่งเสริมวงวิชาการ เช่น การเขียนหนังสือที่นำเสนอทฤษฎีใหม่หรือแนวคิดเชิงนวัตกรรม และสร้างความน่าสนใจ เช่น การเขียนที่เล่าเรื่องราวหรือประเด็นที่ไม่เคยมีการนำเสนอมาก่อน
3) รูปแบบการจัดทำ มีดัชนีค้นคำ และการอ้างอิงที่ถูกต้อง เนื้อหาควรมีความสมบูรณ์ ครอบคลุม และสอดคล้องกับข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย
กล่าวโดยสรุป การเขียนตำราและหนังสือ ควรใช้ภาษาเขียนที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ การสอดแทรกงานวิจัย การอ้างอิง ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล ภาพ และแนวคิดอย่างชัดเจน สะท้อนถึงการเขียนที่มีโครงสร้างชัดเจนและเนื้อหาที่สมดุล รวมไปถึงการจัดรูปเล่ม สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างตำราและหนังสือที่มีคุณภาพ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มคุณค่าทางวิชาการ แต่ยังช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
เอกสารประกอบการบรรยาย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา สัจจานันท์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.บุญทิพย์ สิริธรังศรีและศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิริวรรณ ศรีพหล
แบบประเมินผลการนำไปใช้ประโยชน์จากผู้อ่าน
https://forms.gle/MQ1RQ2RGELJhWEcVA