You are currently viewing 5 AI คู่ใจนักวิชาการ ผนึกกำลังสู่ความสำเร็จทางวิชาการ 

5 AI คู่ใจนักวิชาการ ผนึกกำลังสู่ความสำเร็จทางวิชาการ 

5 AI คู่ใจนักวิชาการ ผนึกกำลังสู่ความสำเร็จทางวิชาการ

อาจารย์ ดร.ชุติวัฒน์ สุวัตถิพงศ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันทิพา อมรฤทธิ์
สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.

      ในยุคสมัยที่มีข้อมูลมากมายล้นหลาม บทบาทของ AI ในงานวิจัยกลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Perplexity AI, SciSpace, Research Rabbit, Connected Papers และ Consensus เพื่อเป็นการปฏิวัติวิธีการค้นพบ วิเคราะห์ และเชื่อมโยงงานวรรณกรรมทางวิชาการต่างๆ  เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้นำ AI มาใช้เพื่อทำให้กระบวนการวิจัยง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การระบุบทความที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่จนถึงการทำให้เห็นภาพเครือข่ายของผลงานทางวิชาการที่ซับซ้อน เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการผลักดันให้เราสามารถทำงานและสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างความเข้าใจทางวิชาการได้เป็นอย่างดี

      Perplexity AI เครื่องมือนี้ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บได้ในเวลาจริง โดยเน้นให้มีรูปแบบที่ใช้งานง่ายและการนำทางที่ราบรื่น เครื่องมือนี้โดดเด่นในด้านการสร้างและสังเคราะห์เนื้อหาจากความรู้ที่หลากหลายจากเว็บไซต์ (ที่มีการให้แหล่งอ้างอิงข้อมูล) เพื่อทำให้เกิดข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ Perplexity ยังมีแอปพลิเคชันบนมือถือและส่วนเสริมของ Chrome ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ผลของการค้นหาเครื่องมือนี้จะทำการสร้างข้อความแบบสรุปออกมาจากแหล่งข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมกับให้ผลการค้นหาภาพและวิดีโออีกด้วย ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน เรียกได้ว่าเบ็ดเสร็จในแพลตฟอร์มเดียว โดยที่ไม่ต้องไปนั่งค้นหาใน search engine แล้วไปเปิดดูทีละลิงก์ หรือ search image และ video ให้เสียเวลาอีกต่อไป

ภาพที่ 1 การค้นหาความรู้จากเว็บ https://www.perplexity.ai

      Consensus เป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ใช้ AI ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำให้การสร้างงานวิจัยมีความราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเครื่องมือนี้จะคัดกรองบทความวิชาการกว่า 200 ล้านชิ้นจากแหล่งฐานข้อมูลทางการศึกษาต่าง ๆ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักวิจัย นักศึกษา แพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้สนใจกับการอ่านเอกสารบทความวิจัย บทความทางวิชาการต่าง ๆ โดยจุดเด่นของเครื่องมือนี้คือการให้ผลการค้นหาที่อิงจากการศึกษาได้จริง มีการให้แหล่งอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบและเชื่อมโยงไปยังบทความฉบับเต็มได้  สามารถวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานได้แบบทันทีด้วยการใช้ GPT-4 และโมเดลภาษาขนาดใหญ่เพื่อสรุปผลการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่าหนึ่งล้านคน Consensus จึงมีเป้าหมายในการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้เชิงวิชาการได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยแตกต่างจาก AI แบบสนทนาด้วยการเน้นการสกัดข้อมูลจากงานวิจัยที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อช่วยสนับสนุนงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพที่ 2 การค้นหาความรู้บนเว็บ https://consensus.app

      SciSpace หรือชื่อเดิม Typeset เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการงานวิจัยทางวิชาการ โดยทำให้การเรียกดูและเข้าถึงวารสารวิชาการง่ายขึ้นด้วยการนำ AI มาประยุกต์ใช้และรูปแบบการใช้งานที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ นำเสนอผลการวิเคราะห์ในรูปแบบตารางสรุป
มีระบบการแปลภาษาอัตโนมัติ (ผู้ใช้งานควรตรวจสอบการแปลภาษาจากโปรแกรมด้วย) ทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักวิชาการทั่วโลก เพื่อให้สามารถค้นพบและใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถตั้งค่าระบบฯ ให้เลือกเฉพาะบทความที่อยู่ในอันดับ Top-tiers paper (บทความที่มีความน่าเชื่อถือสูง) ได้อีกด้วย ดังนั้นแพลตฟอร์มนี้ช่วยให้เราสามารถรีวิวเอกสารและทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 3 การรีวิวเอกสารและงานวิจัยบนเว็บ https://typeset.io

      ResearchRabbit เป็นเสมือนผู้ช่วยอัจฉริยะสำหรับการค้นหางานวิจัยและวารสารต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ใช้งานได้ค้นพบและจัดระเบียบงานวิจัยวารสารได้อย่างเข้าใจง่าย สามารถบันทึกงานวิจัยที่ชื่นชอบได้ อีกทั้ง ResearchRabbit จะแนะนำงานวิจัยอื่น ๆ ที่มีประเด็นการศึกษาคล้ายคลึงกันเพื่อขยายประเด็นการวิจัยได้มากขึ้น ตัวระบบถูกออกแบบมาเพื่อทำให้กระบวนการวิจัยของผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นและไม่วุ่นวายมากนัก โดยระบบฯ จะมีการแสดงผลให้เห็นว่างานวิจัยต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงกันอย่างไร นอกจากนี้ยังมีให้ใช้งานฟรีสำหรับนักวิจัยอีกด้วย และทำงานร่วมกับ Zotero (โปรแกรมในการจัดการทางบรรณานุกรมและรายการอ้างอิง) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัยมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 4 ผลการใช้งานแสดงความคล้ายคลึงกันของผู้เขียนและประเด็น
ที่ผู้ใช้สนใจบนเว็บ https://researchrabbitapp.com

      Connected Papers เป็นเครื่องมือที่ไม่เหมือนใครในการช่วยค้นพบและสำรวจบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของคุณ เครื่องมือนี้สามารถสร้างกราฟเชื่อมโยงระหว่างบทความผ่านเนื้อหาที่มีความคล้ายคลึงกัน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพรวมของงานวิจัยในหัวข้อเฉพาะได้ วิธีการนี้ช่วยให้เข้าใจบริบททางวิชาการและวิวัฒนาการของความคิดภายในสาขาวิชานั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยระบุบทความสำคัญและแนวโน้มต่าง ๆ ได้ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพิสูจน์องค์ความรู้จากแหล่งนั้น ๆ เพื่อช่วยให้นักวิจัยที่ต้องการเข้าใจเนื้อหาในสาขาใดสาขาหนึ่งให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หรือใช้เพื่อค้นหาบทความที่เกี่ยวข้องกับงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพที่ 5 ผลการสำรวจและแสดงความสัมพันธ์ของผู้เขียนบทความวิชาการที่มีลักษณะสัมพันธ์กัน
บนเว็บ https://www.connectedpapers.com

      โดยสรุปแล้วการนำ AI มาช่วยในการรีวิวเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงานเขียนทางวิชาการ โดยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Perplexity AI, SciSpace, ResearchRabbit, Connected Papers และ Consensus เป็นอีกแนวทางที่ดีของการนำศักยภาพของเทคโนโลยีในช่วยสนับสนุนและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวงการวิชาการ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เกิดการค้นพบ การวิเคราะห์ และการเชื่อมโยงงานวรรณกรรมทางวิชาการให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ส่งเสริมการร่วมมือและมุมมองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานหรือผู้วิจัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง มีความรับผิดชอบ และตระหนักถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงของการใช้ AI โดยเฉพาะในประเด็นการวิเคราะห์ข้อมูลความถูกต้อง ความลำเอียง และควรคำนึงถึงประเด็นด้านจริยธรรมอีกด้วย จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าแนวโน้มในอนาคต AI จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการช่วยเหลืองานวิชาการและงานวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการค้นหา จัดระเบียบ และเชื่อมโยงข้อมูลวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดเวลาและแรงงานของนักวิจัยได้มาก และส่งเสริมงานทางวิชาการให้มีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากขึ้น

Social Share...