You are currently viewing รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ เข้าร่วมงานประชุมทางวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 “AI Transformation” ณ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น และได้รับรางวัล “การนำเสนอแบบบรรยายดีเด่น”

รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ เข้าร่วมงานประชุมทางวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 “AI Transformation” ณ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น และได้รับรางวัล “การนำเสนอแบบบรรยายดีเด่น”

ในวันที่ 8 – 10 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ อาจารย์ประจำสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เข้าร่วมงานประชุมทางวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 (The 12th CAS National and International Conference: CASNIC12th) เรื่อง “AI Transformation: ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญาประดิษฐ์” ณ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และกรีนโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น และได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “ผลของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะชุดวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์และสตรีมมิง สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ซึ่งมีคณะผู้วิจัยประกอบด้วย รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ ผศ.ดร.พัทธนันท์ บุตรฉุย และ อาจารย์ ดร.ปิยะพจน์ ตัณฑะผลิน 

วัตถุประสงค์ของงานนี้ เป็นงานประชุมระดับชาติและนานาชาติ ในเรื่อง “AI Transformation: ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญาประดิษฐ์” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และเพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ของนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการและนักวิจัย จากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่สนใจของภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวิธีการประชุมเป็นรูปแบบไฮบริด ที่ผสมผสานในรูปแบบออนไซต์ ณ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet

ทั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ที่ AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถนำมาใช้เป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงยังเป็นตัวเร่งให้ต้องยิ่งพัฒนาทักษะการรู้เท่าทัน AI เพื่อการใช้งานอย่างมีวิจารณญาณอีกด้วย ปัจจุบัน AI ถูกนำมำใช้ในภาคการศึกษาหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียน การปรับปรุงหลักสูตร และการสร้างระบบช่วยสอนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน AI จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการนำ AI มำประยุกต์ใช้ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจ เช่น ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และการลดอคติที่อาจเกิดขึ้นจากระบบ AI ที่ไม่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม กล่าวโดยสรุปว่า AI Transformation ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิธีการในการเรียนรู้ การนำ AI เข้ามาใช้ในวงการศึกษาไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเติบโตไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสามารถนำ AI มาใช้อย่างมีจริยธรรมและเหมาะสม AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและมีความเท่าเทียมในอนาคต 

พร้อมกันนี้ จากการเข้าร่วมนำเสนอผลงาน รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานแบบบรรยายดีเด่น (Best Presentation) สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอแสดงความยินดีมา ณ โอกาสนี้

สไลด์การนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “ผลของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะชุดวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์และสตรีมมิง สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

ลิงก์การเข้าถึง >> https://bit.ly/3BYMJnu

รวมบทความการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 และบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “ผลของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะชุดวิชา การสร้างสรรค์คอนเทนต์และสตรีมมิง สาขาวิชานิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

https://drive.google.com/drive/folders/1-XIGQPFHPHOaIrR38ovoQpEYYJpAkCAC

 
Social Share...