You are currently viewing บันทึกเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างสารที่มีประสิทธิผล

บันทึกเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างสารที่มีประสิทธิผล

บันทึกเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการสร้างสารที่มีประสิทธิผล

นายพรชัย สุขสมทิพย์
สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.

      การบันทึกเสียงมีความสำคัญในการเก็บข้อมูลหรือใช้ในวัตถุประสงค์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการสื่อสาร การบันทึกเสียงช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การสื่อสารเข้าใจยาก เช่น การสนทนาทางไกลหรือการโต้ตอบที่มีความซับซ้อน  ด้านการเรียนการสอน การบันทึกเสียงช่วยให้ผู้เรียนได้ยินเสียงจริง ๆ ของภาษาและคำพูดจากผู้สอน อีกทั้งการบันทึกเสียงยังมีประโยชน์มากมายในชีวิตประจำวันและอื่นๆ อีกมากมาย และการบันทึกเสียงสามารถทำได้ในหลายวิธีตามวัตถุประสงค์และทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งขั้นตอนพื้นฐานในการบันทึกเสียงมีดังนี้

1. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกเสียง ได้แก่ เครื่องมือ อุปกรณ์และโปรแกรมบันทึกเสียงต่าง ๆ ดังนี้

          1.1 ไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์ (Condenser Microphone) เป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการรับเสียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่สามารถรับเสียงด้านหน้าได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ถูกออกแบบให้มีมุมและองศาการรับเสียงที่แคบและน้อยกว่ารูปแบบการรับเสียงในแบบคาร์ดิออย (Cardioid Directional) แต่เพิ่มความสามารถในการรับเสียงด้านหลังเพิ่มเข้ามาและสามารถตอบสนองย่านความถี่เสียงได้อย่างชัดเจนครบถ้วนให้เสียงที่ใสกังวาน จึงเหมาะแก่การใช้งานในห้องบันทึกเสียง

ภาพที่ 1 ไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์

          1.2 เครื่องผสมเสียง (Audio Mixer) เป็นอุปกรณ์ที่ทำการรวมจัดระบบ เปลี่ยนแปลง ปรับแต่งการเคลื่อนไหว (Dynamic) ของสัญญาณเสียง ตัวอย่างเช่น การผสมสัญญาณเสียงจากไมโครโฟน สองตัว ที่แต่ละตัว ผู้พูดอาจมีการบรรยายสลับกัน หรือคู่กัน ซึ่งสัญญาณที่ออกจากเครื่องผสมเสียง จะถูกส่งตรงไปยังเครื่องขยายเสียง และเครื่องขยายเสียงจะส่งสัญญาณไปออกที่ชุดลำโพง

ภาพที่ 2 เครื่องผสมเสียง

          1.3 เครื่องแปลงสัญญาณเสียง (Audio Interface)คือ อุปกรณ์ที่มีผลโดยตรงกับคุณภาพเสียง ซึ่งหน้าที่ของ Audio interface คือจะช่วยแปลงเสียงจากสัญญาณ Analog เช่น เสียงพูด เสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรี ผ่านการบันทึกเสียงจากไมโครโฟนหรือสายสัญญาณเสียงจากเครื่องดนตรี ให้กลายเป็นสัญญาณดิจิทัลที่เข้าไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการบันทึกสัญญาณและก็สามารถแปลงสัญญาณเสียงนั้นเป็นสัญญาณ Output เพื่อให้เราฟังผ่านลำโพงหรือหูฟัง สรุปได้ว่า Audio Interface มีหน้าที่แปลงสัญญาณ Analog เป็น Digital เพื่อให้เราสามารถบันทึกเสียงไว้ในซอฟแวร์บนคอมพิวเตอร์ได้นั้นเอง

ภาพที่ 3 เครื่องแปลงสัญญาณ

          1.4 เครื่องขยายเสียง (Amplifiers)เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียงจากแหล่งเสียงต่าง ๆ เช่น ไมโครโฟน (Microphone) เครื่องผสมเสียง (Audio Mixer) และนำสัญญาณ Output ออกมาใช้งานในการเชื่อมต่อกับลำโพง โดยคุณภาพเสียงต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากแหล่งกำเนิดเสียง

ภาพที่ 4 เครื่องขยายสัญญาณ

          1.5 เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการบันทึกเสียง (Computer for recording audio) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้     ทำหน้าที่บันทึกเสียงด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมบันทึกเสียงที่มีอยู่ในระบบปฏิบัติการ เช่น โปรแกรม ACID Pro 11 เป็นโปรแกรมสำหรับทำงานด้านเพลงหรือเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งการใช้งานโปรแกรมนี้คือจัดการกับไฟล์เสียงต่าง ๆ ในรูปแบบโปรแกรมแต่งเพลง โปรแกรมอัดเสียง โปรแกรมทำเพลง หรือโปรแกรมจัดการและปรับแต่งคุณภาพของไฟล์เสียงในรูปแบบต่าง ๆ

ภาพที่ 5 เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการบันทึกเสียง

          1.6 ลำโพง (Speaker) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นหน่วยแสดงผลในรูปของเสียง เช่น เสียงพูด เสียงดนตรี และใช้สำหรับถ่ายทอดคุณภาพเสียงต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้ยินเสียงที่ต้องการ

ภาพที่ 6 ลำโพง

          1.7 สถานที่ที่เหมาะสม ควรเป็นสถานที่ที่มีความเงียบและไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก เพื่อให้ได้เสียงที่คมชัดที่สุดและมีคุณภาพของเสียงที่ดี เช่น ห้องบันทึกเสียง

ภาพที่ 7 ห้องบันทึกเสียง

  1. ตรวจสอบคุณภาพเสียง ก่อนที่จะเริ่มการบันทึกเสียง ควรทดสอบคุณภาพเสียงโดยการทดลองบันทึกเสียง ทดสอบเสียงผ่านไมโครโฟน และตรวจสอบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเสียง เช่น เสียงรบกวนหรือเสียงที่ไม่ต้องการอื่น ๆ หรือไม่

          การเลือกรูปแบบการบันทึกเสียงก็เป็นสิ่งสำคัญ รูปแบบการบันทึกเสียงมีหลายแบบ เช่น WAV, MP3  ขึ้นอยู่กับการใช้งานและคุณภาพที่ต้องการ

  • WAV เป็นไฟล์นามสกุล .wav เป็นไฟล์ประเภทที่ไม่สูญเสียคุณภาพของเสียง และให้คุณภาพเสียงที่ 1 kHz (มาตรฐานของ CD Audio) และตอบสนองความถี่เสียงสูงสุดได้ถึง 22 kHz แต่มีข้อเสียคือ มีขนาดใหญ่จึงสิ้นเปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ไฟล์ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้านเสียง ที่ต้องใช้ไฟล์ที่มีรายละเอียดสูงในการทำงาน หรือผู้ที่ต้องการฟังเพลงที่ให้คุณภาพสูงสุด และไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการเก็บข้อมูล
  • MP3 เป็นไฟล์นามสกุล .MP3 เป็นไฟล์ประเภทที่มีการสูญเสียข้อมูลบางส่วนจากการถูกบีบอัด ไฟล์ MP3 เป็นกระบวนการบีบอัดเสียงให้มีขนาดเล็กลงและตอบสนองความถี่สูงสุดที่ 18 kHzไฟล์ MP3 มีความละเอียด Bitrate อยู่ที่ 128 kbps (ค่ามาตรฐานของไฟล์ MP3) และมีขนาดเล็กกว่าไฟล์ .wav ประมาณ 10 เท่า เช่น ไฟล์ .wav ขนาดไฟล์ประมาณ 50 MB ซึ่งเป็นขนาดของเพลงปกติที่มีความยาวประมาณห้านาที นำมาบีบอัดเป็นไฟล์ MP3 ก็จะเหลือเนื้อที่เพียง 5 MB เท่านั้น

3. เริ่มบันทึกเสียง เมื่อทดสอบและตรวจสอบทุกอย่างพร้อมใช้งานแล้วจึงเริ่มทำการบันทึกเสียง โดยโปรแกรมบันทึกเสียงที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถบันทึกเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ตรวจสอบการบันทึกและแก้ไขตามต้องการ เมื่อทำการบันทึกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำการตรวจสอบและแก้ไขไฟล์เสียงตามต้องการ โดยใช้โปรแกรมแก้ไขไฟล์เสียงที่ใช้งานในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ไฟล์เสียงตรงตามความต้องการ

5. บันทึกไฟล์เสียงและจัดเก็บไฟล์เสียง ทำการบันทึกไฟล์เสียงที่ต้องการเพื่อป้องกันการสูญเสียข้อมูล และจัดเก็บไฟล์เสียงในที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถเข้าถึงไฟล์ได้ตลอดเวลาในการใช้งาน

 

พร้อมที่เริ่มบันทึกเสียงอย่างมีคุณภาพแล้วหรือยัง?

          ถ้าท่านสนใจงานออกแบบกราฟิก สร้างสรรค์สื่อดิจิทัล คลิปวิดีโอ คลิปเสียง สื่อออนไลน์ สามารถอ่านรายละเอียดและใช้บริการของเราได้ที่  https://oet.stou.ac.th/event-service/ ร่วมกันสร้างสรรค์สื่อและนวัตกรรมล้ำสมัย พัฒนาการศึกษาทางไกล ไปกับเราที่สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.

Social Share...